เลือกซื้อทัวร์ ควรต้องดูอะไรบ้าง!
ทุกวันนี้ธุรกิจทัวร์มีการเปลี่ยนแปลงไปจากยุคเก่ามากมาย ลูกเล่นเยอะขึ้น รูปแบบการให้บริการก็หลากหลายมาก จนผู้ที่อยากจะซื้อทัวร์อาจลังเล เลือกไม่ถูก และหากเลือกไม่ดี พิจารณาไม่รอบคอบ ก็มีสิทธิจะไปเจอเอาทัวร์โกงเข้าได้ อย่างที่มีข่าวกันบ่อยๆ เช่นนั้น เรามาลองดูกันซิว่า ทัวร์ลักษณะไหนที่ควรจะหลีกเหลี่ยง และทัวร์ลักษณะไหนที่ควรจะเรียกใช้ให้สอดคล้องกับความต้องการท่องเที่ยวในแต่ละโอกาสฃ
ลักษณะของทัวร์รูปแบบต่างๆ
๑. ทัวร์หมู่คณะแบบมาตรฐานดั้งเดิม
ผู้ประกอบการทัวร์ทำการรวบรวมนักท่องเที่ยวจากที่ต่างๆ มาเดินทางด้วยกันเป็นหมู่คณะใหญ่ ทัวร์แบบนี้จะกำหนดวันเวลาในการเดินทางแน่นอน กำหนดจำนวนคนขั้นต่ำที่จะออกทัวร์ได้ มีโปรแกรมเดินทางค่อนข้างละเอียดให้เราได้พิจารณาก่อน มีรายการอาหารและที่พักแจ้งให้ทราบไว้ก่อน แม้ว่าจะมีเงื่อนไข “อาจปรับเปลี่ยนได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม” แต่โดยส่วนใหญ่ก็จะดำเนินตามโปรแกรมที่วางไว้
๒. ทัวร์กรุ๊ปเหมา
ทัวร์แบบนี้ ผู้เดินทางเกือบทั้งหมดรู้จักกัน อาจเป็นผู้ทำงานที่เดียวกัน เป็นกลุ่มสมาคมหรือชมรม นัดหมายเดินทางท่องเที่ยวด้วยกัน โดยให้ผู้ประกอบการทัวร์จัดการท่องเที่ยวและกิจกรรมต่างๆ ให้ตามวัตถุประสงค์ของกลุ่ม
๓. ทัวร์หมู่คณะย่อยๆ หรือที่เรียกว่า FIT
ส่วนใหญ่จำนวนนักท่องเที่ยวตั้งแต่ ๒ - ๘ คน พอดีกับรถตู้ ๑ คัน เป็นกลุ่มเพื่อนหรือครอบครัว ปัจจุบันคนไทยนิยมการเดินทางแบบนี้มากขึ้น โดยอาจติดต่อให้ผู้ประกอบการทัวร์จากถิ่นของตนจัดโปรแกรมท่องเที่ยวให้ทั้งหมด เดินทางไปสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ไปลองชิมอาหารชื่อดังตามร้านที่มีผู้รีวิวไว้ทางสื่อออนไลน์ วิธีนี้แม้จะสะดวก เลือกสถานที่ วัน-เวลา ได้ตามต้องการมากกว่าแบบแรก แต่ก็มีค่าใช้จ่ายสูงกว่า และอาจไม่สามารถเก็บไฮไลท์ของการท่องเที่ยวบางอย่างที่ได้จากการไปเป็นหมู่คณะใหญ่ เช่น การจัดกิจกรรมในชุมชนวัฒนธรรม การแสดง การลิ้มลองอาหารถิ่นที่ทำขึ้นเป็นพิเศษเพื่อรับคณะทัวร์ เป็นต้น
๔. ทัวร์บริการในพื้นถิ่น
ผู้ประกอบการทัวร์ที่ให้บริการเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยวนั้นๆ อาจเฉพาะในจังหวัด หรือในเขตจังหวัดที่อยู่ติดกัน นักท่องเที่ยวสามารถวางแผนการเดินทางจากถิ่นที่อยู่ของท่านเอง แล้วไปใช้บริการของผู้ประกอบการทัวร์ในพื้นถิ่นให้จัดนำเที่ยวเฉพาะพื้นที่ให้
๕. ทัวร์เฉพาะกิจกรรม
ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นชัดก็เช่น ทัวร์ล่องแก่งลำน้ำว้า ทัวร์เดินป่า ทัวร์โยคะ ฯลฯ ทัวร์ลักษณะนี้จะเจาะจงกิจกรรมชัดเจน อาจใช้เวลา ๑ - ๒ วัน เมื่อจบกิจกรรมที่กำหนด ท่านก็ต้องเดินทางท่องเที่ยวสถานที่อื่นๆ เอง
เลือกซื้อทัวร์ควรดูอะไรบ้าง
๑. เลือกรูปแบบที่เหมาะกับเรา
เมื่อท่านได้รู้จักกับการบริการทัวร์รูปแบบต่างๆ แล้ว ก็คงจะเลือกใช้ได้ไม่ยาก แต่ว่าก็ยังอยากจะให้ข้อพิจารณาไว้สักเล็กน้อย
อายุอานามของท่านนั้นเป็นปัจจัยสำคัญทีเดียว หากยอมรับตัวเองว่าเขาเขต สว. หรือย้ายสำมะโนครัวเข้าอยู่เขตหลักห้า หลักหก หรือแม้กระทั่งหลักเจ็ด แล้วล่ะก็ ทัวร์แบบที่ ๑ เหมาะกับท่านมากที่สุด เพราะนอกจากท่านจะมีเพื่อนร่วมเดินทางอายุใกล้เคียงกันแล้ว ไกด์และผู้นำทัวร์จะคอยอำนวยความสะดวกและให้ความช่วยเหลือแก่ท่าน การท่องเที่ยวเพลิดเพลินไปเรื่อยๆ ไม่ต้องกังวลกับเส้นทาง การหาสถานที่กิน สถานที่พัก หรือการแก้ไขสถานการณ์ใดๆ ระหว่างท่องเที่ยว เพราะมีผู้ดูแลเรื่องเหล่านี้แทนท่าน
· หากยังมีกำลัง และเป็นคนชอบวางแผนการท่องเที่ยวเอง เจาะลึกใช้เวลาในสถานที่ท่องเที่ยวแปลกๆ ที่เป็นรสนิยมส่วนตัว เหมาะกับการเลือกจัดทัวร์แบบ FIT หรือ ทัวร์เฉพาะพื้นที่
๑. เปรียบเทียบทัวร์ให้เข้าใจ
ว๊าย!! รายการทัวร์คล้ายกันเลย แต่ราคาต่างกันมาก
มีอะไรซ่อนอยู่เยอะ ขอให้ตั้งสติอ่านโปรแกรมให้ละเอียด และตั้งข้อสังเกตดังนี้
- นอนโรงแรมกี่คืน เป็นโรงแรมระดับไหน
- เดินทางด้วยพาหนะอะไร
- เดินทางไป-กลับ กลางวันหรือกลางคืน
- อาหารจัดให้กี่มื้อ
- สถานที่ท่องเที่ยวต่างกันอย่างไร
- มีไฮไลท์อะไรที่แตกต่างหรือไม่ เช่น โชว์ หรือ กิจกรรมพิเศษในทริป
- มีไกด์ดูแลหรือไม่
- ค่าทิปเท่าไร อย่าลืมเอามารวมกันด้วย
๑. ดูประสบการณ์ของผู้ประกอบการทัวร์
ผู้ประกอบการทัวร์มักจะมีความเชี่ยวชาญในทัวร์แต่ละประเภทหรือแต่ละท้องถิ่นต่างกันแม้ว่าจะไม่ได้เป็นการการรันตีได้ทั้งหมด แต่ก็เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์
๒. เลือกผู้ประกอบการทัวร์ที่มีใบอนุญาต
ผู้ประกอบการทัวร์ทุกรายจะใส่เลขที่ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ที่ออกให้โดยกรมการท่องเที่ยว ไว้ที่โปรแกรมทัวร์ เวปไซต์ หรือช่องทางการขายของตัวเอง ผู้ซื้อสามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นเลขที่จริงหรือไม่ โดยเข้าไปที่เวปไซต์ของ “สำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์” กรอกเลขทะเบียนลงไปก็จะทราบสถานะของธรุกิจและประเภทที่ได้รับอนุญาต แต่ละประเภทจะมีเงินที่ต้องวางประกันความเสียหายไว้กับกรมการท่องเที่ยวแตกต่างกัน ควรเลือกใช้ผู้ประกอบการทัวร์ให้ตรงกับชนิดของการเดินทาง
๓. เลือกผู้ประกอบการทัวร์ที่เป็นสมาชิกสมาคมด้านการท่องเที่ยว
ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นการการรันตีคุณภาพหรือความซื่อสัตย์ได้ แต่การที่ผู้ประกอบการทัวร์เป็นสมาชิกสมาคมด้านการท่องเที่ยว ก็ย่อมต้องผ่านการคัดกรองความมีอยู่จริงของธุรกิจในระดับหนึ่งมาแล้วจึงจะเป็นสมาชิกได้
ข้อสังเกตุที่ควรระวังไว้ก่อน
๑. ขายทัวร์ราคาถูกเว่อร์
ข่าวการทิ้งทัวร์มีให้เห็นกันบ่อยครั้ง โดยเฉพาะทัวร์เดินทางออกต่างประเทศ พวกนี้มักตั้งราคาถูกกว่าท้องตลาด ในครั้งแรกๆ ก็พาคนไปจริง เพื่อให้เชื่อใจและไปบอกต่อว่า ทัวร์ราคาถูกนะ เมื่อมีผู้หลงเชื่อมาแห่ซื้อกันมากขึ้น ได้จังหวะเหมาะก็ทิ้งทัวร์ทันที
ดังนั้น หากเจอทัวร์ราคาถูกๆ ให้ตั้งข้อสังเกตและหาข้อมูลให้ละเอียดเสียก่อน อย่าเชื่อแค่คำบอกต่อ ย้อนขึ้นไปดูหัวข้อด้านบน จะทราบว่าคุณต้องรู้ข้อมูลใดบ้าง
ส่วนทัวร์ในประเทศนั้น แม้จะไม่มีการทิ้งทัวร์กันชัดๆ แต่ก็แฝงด้วยการปล่อยให้เที่ยวตามยถากรรมได้ ให้ทานอาหารคุณภาพแย่ ให้พักโรงแรมคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน สภาพรถโดยสารไม่ดี ฯลฯ เป็นต้น การตรวจสอบผลงานและข้อมูลตามหัวข้อที่แล้วก็จะช่วยในการพิจารณาได้
๒. ไม่มีใบอนุญาต หรือใบอนุญาตไม่ตรงกับประเภทการประกอบธุรกิจ
หากใบอนุญาตหมดอายุ หรือถูกยกเลิกใบอนุญาต ก็ไม่ควรไว้วางใจใช้บริการ รวมถึงการมีใบอนุญาตไม่ตรงกับลักษณะการทำงาน เช่น มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวภายในประเทศ แต่ทำธุรกิจพานักท่องเที่ยวออกต่างประเทศ แสดงถึงความไม่ซื่อตรงและวงเงินประกันสำหรับนักท่องเที่ยวก็น้อยกว่าอีกด้วย
๓. ไม่มีสถานที่ตั้งชัดเจน
ไม่พบสถานที่ตั้ง หรือปิดบังสถานที่ตั้ง โดยใช้สถานที่ตั้งปลอม เป็นต้น
๔. ค้นหาไม่เจอ
ผู้ประกอบการทัวร์ที่ถูกต้อง มีประสบการณ์ทำงาน ย่อมต้องมีช่องทางการประชาสัมพันธ์ผลงาน โปรแกรมทัวร์ และช่องทางการติดต่อซื้อทัวร์ ผ่านทางสื่อออนไลน์ต่างๆ เช่น เวปไซต์ เฟสบุ๊ค กูเกิ้ล โดยเฉพาะเฟสบุ๊ค จะเป็นแหล่งรวมภาพผลงานที่ดีมากให้คุณตรวจสอบได้ แต่หากค้นหาในช่องทางออนไลน์พื้นฐานเหล่านี้แล้วไม่พบ หรือพบแต่ไม่มีความเคลื่อนไหวของการสื่อสาร ขอให้ระมัดระวังไว้ก่อน
บทความโดย : ดร.กฤติยา วโรดม อุปนายกสมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.)